1 2 3 4 5

กระบวนการและขั้นตอนสหกิจศึกษา

1. การรับสมัครนักศึกษา

      การรับลงทะเบียนวิชาสหกิจศึกษา นักศึกษาต้องกรอกข้อมูลและแจ้งยื่นแบบแจ้ง รายละเอียดการเข้าร่วมต่องานสหกิจศึกษาและฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามกำหนดการที่กำหนด โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในแต่ละภาคการศึกษา

2. การเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนออกปฏิบัติงาน

      การลงทะเบียนล่วงหน้า (Pre-register) รายวิชาสหกิจศึกษา นักศึกษาต้องลงทะเบียนล่วงหน้า (Pre-register) ก่อนสิ้นภาคการศึกษา (ดูกำหนดการในการปฏิบัติสหกิจศึกษาประจำภาคเรียนนั้นๆ) โดยขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาประจำสาขาวิชา ที่นักศึกษาสังกัดก่อน

      การอบรมสัมมนาหรือลงทะเบียนเรียนวิชาการเตรียมความพร้อมฯ (2 หน่วยกิจ) นักศึกษาสหกิจศึกษาก่อนออกปฏิบัติงาน คณะ / สาขาวิชา จะจัดให้มีการฝึกอบรมนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาอย่างต่อเนื่องล่วงหน้าก่อนภาคการศึกษาสหกิจศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมให้นักศึกษามีความพร้อมสูงสุดก่อนที่ออกไปปฏิบัติงาน โดยมีหัวข้ออบรมเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. กระบวนการสหกิจศึกษาและการสมัครงาน
    • กระบวนการสหกิจศึกษา
    • เทคนิคการเขียนจดหมายสมัครงาน
    • เทคนิคการสัมภาษณ์งานอาชีพ
  2. การพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน
    • วัฒนธรรมองค์กร
    • การพัฒนาบุคลากร
    • จรรยาบรรณวิชาชีพ
  3. กฏหมายแรงงาน
    • กฏหมายแรงงาน
    • การประกันสังคม
  4. มาตรฐานและอาชีวอานามัย
    • กิจกรรม 5 ส.
    • มาตรฐานอุตสาหกรรม
  5. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
    • การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
    • เทคนิคการใช้งานเพื่อการเขียนรายงาน
  6. เทคโนโลยีสารสนเทศ
    • ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    • การสืบค้นข้อมูล
  7. การคิดเชิงวิเคราะห์
    • ทักษะการวางแผน
    • ทักษะการวิเคราะห์
    • ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการตัดสินใจ

3. การเลือกสมัครงานและการจับคู่ (Matching)

      นักศึกษาสหกิจศึกษา สามารถสมัครงานได้ตามงานที่ไดรับการเสนอจากสถานประกอบการซึ่งคณะ ฯ จะทำการประชาสัมพันธ์ ให้นักศึกษาทราบ เพื่อให้นักศึกษาได้ดำเนินการสมัครงานโดยกรอกข้อมูลในใบสมัครเช่นเดียวกับ การสมัครงานเข้าทำงาน และส่งใบสมัครให้งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


4. การคัดเลือกนักศึกษาโดยสถานประกอบการ

      งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะนำใบสมัครงานของนักศึกษาเสนอต่อสถานประกอบการเพื่อทำการคัดเลือกนักศึกษาไปปฏิบัติงาน โดยพิจารณาจากใบสมัครอย่างเดียวหรืออาจจะสัมภาษณ์นักศึกษาด้วย ซึ่งเมื่อนักศึกษาส่งใบสมัครแล้ว ขอให้ตรวจสอบประกาศการสัมภาษณ์งานเป็นระยะๆ หลังจากนั้นสถานประกอบการจะส่งผลการคัดเลือกนักศึกษาให้งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทราบ โดยจะระบุลำดับการเลือกนักศึกษา


5. การจับเข้าคู่ (Matching) ระหว่างสถานประกอบการและนักศึกษา

      เจ้าหน้าที่สหกิจศึกษา จะนำผลการคัดเลือกนักศึกษาของสถานประกอบการ และลำดับความต้องการของนักศึกษามาจัดเข้าคู่กัน จึงจะประกาศผลการคัดเลือกให้นักศึกษาทราบ ในกรณีที่นักศึกษาไม่มีรายชื่อในประกาศผลการคัดเลือกให้รีบติดต่อ งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยด่วน เพื่อจัดหาสถานประกอบการให้ใหม่โดยเร็วที่สุด โดยภายหลังการประกาศคัดเลือกแล้ว นักศึกษาทุกคนจะต้องไปปฏิบัติงานตามกำหนดจะขอสละสิทธิ์การไปปฏิบัติงานไม่ ได้โดยเด็ดขาด ยกเว้นป่วยอย่างรุนแรง


6. ค่าตอบแทนและสวัสดิการจากสถานประกอบการ

      ตามปกติ สถานประกอบการจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่นักศึกษาในอัตราที่สถานประกอบการกำหนด อย่างไรก็ตามหน่วยงานราชการบางแห่งอาจได้ค่าตอบแทนที่ต่ำ ในกรณีที่สถานประกอบการหรือหน่วยงานเสนองานให้แก่นักศึกษาโดยมีค่าตอบแทนต่ำ นั้น งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะรับงานนั้นให้แก่นักศึกษาได้หรือไม่ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  1. ยอมรับงานให้แก่นักศึกษาโดยปรับตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ
  2. เป็นไปตามความต้องการของนักศึกษา โดยมีเหตุผลอันควร เช่น สถานประกอบการตั้งอยู่ในภูมิลำเนา ของนักศึกษา หรือนักศึกษาสนใจลักษณะงานที่บริษัทเสนอ
  3. สาขาวิชา เห็นชอบด้วย กรณีที่สถานประกอบการจัดที่พักให้นักศึกษาถือว่าเป็นสวัสดิการ เพิ่มเติม หากนักศึกษาไม่สะดวกในเรื่องที่พักที่จัดให้ สามารถจัดหาที่พักเองได้ แต่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ไปปฏิบัติงานหรือเปลี่ยนสถานที่ไม่ได้ กรณีที่สถานประกอบการช่วยจัดหาที่พักที่ปลอดภัยและเหมาะสม เช่น พักรวมกับบุคลากรของสถานประกอบการ พักละแวกที่พนักงานพักอยู่ และมีรถของสถานประกอบการเดินทางโดยสะดวก เป็นต้น

7. การปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ

      นักศึกษาต้องเดินทางถึงสถานประกอบการในวันที่กำหนดทั้งนี้ งานสหกิจศึกษาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะประสานงานให้สถานประกอบการทราบล่วงหน้า หากนักศึกษาต้องการเข้าปฏิบัติงานก่อนกำหนดหรือเกิดเหตุขัดข้องในระหว่าง เดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงตามกำหนดเวลา โปรดติดต่อแจ้งให้สถานประกอบการทราบด่วนที่สุด
      เมื่อนักศึกษาออกไปปฏิบัติงานกับสถานประกอบการ นักศึกษาจะมีพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) คอยให้การดูแลและชี้แนะนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องตั้งใจปฏิบัติงาน เชื่อฟัง และให้ความเคารพพนักงานที่ปรึกษาเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในระหว่างปฏิบัติงาน




คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  เลขที่ 9  ถนนแจ้งวัฒนะ  แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน  จังหวัดกรุงเทพฯ  10220  โทร. 02-522-6609